Hot Topic!

แก้ 'คอร์รัปชัน' อย่างยั่งยืน ปลุกจริยธรรม-ส่งเสริมการมีส่วนร่วม

โดย ACT โพสเมื่อ Aug 27,2018

- - ขอบคุณข้อมูลจาก ประชาชาติธุรกิจ - -

 

คอลัมน์ ระดมสมอง : โดย ดร.ประทีป ตั้งมติธรรม

 

ช่วงหลัง ๆ คำว่า "คอร์รัปชัน" มีการใช้บ่อยครั้ง เช่น การต่อต้าน "คอร์รัปชัน" เป็นต้น เพราะรู้สึกว่าคนทั่วไปจะเข้าใจได้ดีกว่าคำไทย ๆ ทั้งที่เป็นคำต่างด้าว มีหลายคนก็ใช้ว่า "ทุจริตประพฤติมิชอบ"ซึ่งก็ยาวหน่อย เพราะมีถึง 7 พยางค์ และต้องถามต่อว่า "ทุจริต" คืออะไร และ "ประพฤติมิชอบ" อย่างไร ที่จริง "คอร์รัปชัน" นั้นก็คือ "โกง" "โกง" น่าจะเข้าใจได้ง่าย ๆ ถ้าจะบอกว่า ก็คือการใช้อุบายเล่ห์เหลี่ยมหลอกลวง หรือยักยอกสิ่งที่ไม่ควรได้มาเป็นของตน หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ การผิดศีล ข้อ 2 (ยักยอก) และข้อ 4 (หลอกลวง) นั่นเอง

 

เมื่อใช้เล่ห์ยักยอกสิ่งที่ไม่ควรได้มาเป็นของตน ก็ย่อมทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเสียในสิ่งที่ไม่ควรเสียไป เช่น การที่ ผู้บริหารเรียกรับผลประโยชน์จาก บุคคลภายนอกที่มารับจ้าง หรือขาย สินค้าให้บริษัท หรือหน่วยราชการที่ ตนทำงานอยู่ ก็ย่อมทำให้บริษัท/ ราชการเสียหายเพราะต้องจ่าย "ค่าจ้าง" หรือ "ราคา" มากกว่า ที่ควร เพราะสามารถเจรจาให้ผู้รับจ้าง/ผู้ขายลดราคาลงเท่ากับหรือมากกว่าส่วนเกินที่ต้องจ่ายลงได้

 

การที่พนักงาน/ข้าราชการทำงาน ไม่เต็มที่ ทำงานน้อยกว่าที่ตกลงตาม สัญญาจ้างแรงงาน หรือโกงเวลาทำงาน ไม่ว่าจะแจ้งเท็จว่าป่วยทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ป่วย ก็เข้าข่ายเป็นการ "โกง" ประเภทหนึ่งในทางกลับกัน การมีจิตอาสาทำงานเพื่อสาธารณกุศล การออกค่าใช้จ่ายบางส่วนเอง ทั้ง ๆ ที่มีสิทธิ์เบิกได้ตามระเบียบ การเอาใจจดจ่อกับความสำเร็จของงานที่ทำ หรือทำงานมากกว่าที่ตกลงหรือมุ่งคิดถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก ก็ควรจะถือเป็นความเสียสละและเป็นความดีความชอบ เพราะเป็น "การเสียสละผลประโยชน์ ส่วนตนเพื่อส่วนรวม" นั่นเอง คำที่ตรงข้ามกับ "โกง" หรือ "corruption" ก็น่าจะเป็น "จริยธรรม" หรือ "ethics" "จริยธรรม" คือ ธรรมที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติ หรือ "ศีลธรรม" นั่นเอง ส่วน "ethics" ก็คือ "morality" ซึ่งมีความหมายตรงกับ "จริยธรรม" หรือ "ศีลธรรม"

 

อีกคำหนึ่งที่เกี่ยวข้องกัน คือ "จรรยาบรรณ" (professional ethics) ซึ่งเป็นการประมวลความประพฤติสำหรับ ผู้ประกอบวิชาชีพแขนงต่าง ๆ ที่ถูกต้องตามจริยธรรม เพื่อรักษาและ ส่งเสริมเกียรติคุณ ชื่อเสียงของวิชาชีพนั้น ๆ หรือเพื่อป้องกันการใช้วิชาชีพในการโกงผู้อื่นนั่นเอง

 

ดังนั้น การที่ผู้รับจ้างหรือผู้ประกอบวิชาชีพแขนงต่าง ๆ ทำงานให้มากกว่าหรือดีกว่าที่ตกลงกับผู้ว่าจ้าง ก็ย่อมสมควรได้รับการชื่นชมยกย่องว่าทำงานเกินกว่าความรับผิดชอบ และจะได้รับงานต่อเนื่องไม่สิ้นสุด ทั้งจากผู้ว่าจ้างและจากการแนะนำต่อเนื่องไปสู่งานอื่น ๆ

 

ตัวอย่างอีกลักษณะหนึ่ง เช่น ผู้บริหารที่ถือหุ้นบริษัทตั้งใจบริหารงานให้ผลดีกว่าที่คาดคิดไว้ ทำให้บริษัทกำไรเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ก็ทำให้เขาได้รับ "โบนัส" "เงินปันผล" และ "ราคาหุ้น" ของบริษัทที่เขาถือหุ้นอยู่มากขึ้นด้วย

 

กรณีนี้เข้าข่าย "ได้ประโยชน์ทั้งคู่" หรือ "win-win" จะไม่มีใครต่อว่า ว่าผู้บริหารนั้นทำเพื่อประโยชน์ตนเอง เพราะบริษัทได้รับประโยชน์มากกว่า แต่เป็นผลพลอยได้ที่ทำให้ผลประโยชน์ส่วนตัวเพิ่มขึ้นด้วย

 

"ผลพลอยได้" ถือว่าเป็น "แรงจูงใจ" ที่ผู้บริหารมีส่วนในการถือหุ้นบริษัทที่เขาทำงานอยู่ ทำให้เขาทุ่มเททำงานมากกว่าปกติ

 

บริษัทเอกชนจำนวนมากใช้วิธีจ่ายโบนัสประจำปี 1 หรือ 2 เดือนเท่า ๆ กันทุกคนนั้น ไม่ได้สร้างแรงจูงใจให้ทำงานดีกว่าเกณฑ์เฉลี่ย ซึ่งเป็นแนวความคิดแบบสังคมนิยม (คอมมิวนิสต์) ที่มาจากความเสมอภาคที่ควรจะแบ่งจ่ายเท่า ๆ กัน ในทางกลับกันบริษัทที่จ่ายโบนัสต่างกันตามผลงาน หรือความดีความชอบ (merit pay) ก็ย่อมจะสร้างแรงจูงใจได้ดีกว่า

 

จะเห็นจากตัวอย่างบริษัทที่มีผลประกอบการดีเด่นทั่วโลกส่วนใหญ่มักจะมีผู้บริหารหลักเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เพราะรู้สึกมีความเป็นเจ้าของ และมีส่วนได้ส่วนเสียมากกว่าบริษัทที่ผู้บริหารไม่ได้ เป็นผู้ถือหุ้น

 

ในอีกด้านหนึ่ง ผู้บริหารยิ่งถือหุ้นในบริษัทมากเท่าไหร่ การโกงบริษัทจะ ลดลง เพราะการโกงบริษัทก็คือ การโกงตัวเอง นั่นเอง

 

ดังนั้น นอกจากจะป้องกันการทุจริตด้วยการออกกฎหมาย กฎระเบียบ และกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่จะสร้างความโปร่งใส เพิ่มการตรวจสอบ ตลอดจนการกำหนดโทษเพื่อปรามการโกงแล้ว การส่งเสริมให้มีส่วนเป็นเจ้าของ การสร้างความรัก "บริษัท" หรือ "องค์กร"ที่ทำงานอยู่ ตลอดจนความรักในวิชาชีพ เกียรติยศศักดิ์ศรี ชื่อเสียง วงศ์ตระกูล สังคม และ "ประเทศชาติ" ล้วนมีส่วน ทำให้ "การโกง" หรือ "ทุจริตประพฤติมิชอบ" หรือ "corruption" ลดลงได้แต่จะก่อให้เกิด "จิตอาสา" ที่พร้อมจะเสียสละ ทุ่มเท ทำงานเพื่อวิชาชีพ องค์กร หมู่คณะ สังคม และประเทศชาติเพิ่มขึ้น

 

 

 

 

#ร่วมเป็นคนไทยตื่นรู้สู้โกง

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw